รักนิรันดร์ราชันสองแผ่นดิน

191.0K · จบแล้ว
สวรรยสร
69
บท
1.0K
ยอดวิว
8.0
การให้คะแนน

บทย่อ

เมเนส (Menes) ฟาโรห์ที่นักประวัติศาสตร์ไม่แน่ใจว่าพระองค์มีตัวตนจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงเรื่องที่ชาวอียิปต์โบราณแต่งขึ้นมาในภายหลัง ทว่าพระองค์กลับเป็นฟาโรห์องค์แรกที่สามารถรวมอียิปต์บนและอียิปต์ล่างไว้ได้สำเร็จในปี 3150 ก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์โบราณจึงนิยมเรียกชาติของตนเองว่า 'ดินแดนสองแผ่นดิน (Land of Two Lands)' เมเนสทรงสถาปนาตนเองเป็นฟาโรห์องค์แรกแห่งราชวงศ์ที่หนึ่งของอียิปต์โบราณ เรื่องราวข้างต้นช่างห่างไกลเหลือเกินกับปัจจุบันที่อยู่ในคริสตศักราช 5022 นัซย่า สายลับสาวคนสวย มือดีที่สุดของสายลับรัสเซีย ได้รับงานพิเศษเร่งด่วนให้สืบหาสาเหตุการตายและจับคนร้ายที่ฆ่าบุตรสาวของประธานาธิบดีรัสเซีย เธอเดินทางสู่ประเทศอียิปต์ในฐานะนักโบราณคดี ทว่าเธอเผลอแตะต้องรูปสลักของฟาโรห์เมเนสไปอย่างไม่ตั้งใจ สี่เทพผู้ทรงอำนาจแต่ครั้งอียิปต์โบราณปรากฏขึ้นต่อหน้าเธอ เทพทั้งสี่พาเธอย้อนกลับสู่ช่วงเวลาที่อียิปต์ยังคงเป็นสอง มิใช่หนึ่ง ยุคที่ยังไม่มีกระทั่งราชวงศ์ที่หนึ่งแห่งราชอาณาจักรอียิปต์ ยุคที่อียิปต์เพิ่งเริ่มต้น มีเพียงราชาแมงป่องปกครองอียิปต์บนที่กรุงธีบส์ ไม่มีฟาโรห์เมเนส และช่วงเวลานี้มีเพียงนาม 'นาร์เมอร์' หามีนาม 'เมเนส' ไม่ ทั้งนาร์เมอร์ยังมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ว่าคือฟาโรห์ผู้รวมอียิปต์บนและอียิปต์ล่างให้เป็นหนึ่งเดียว เช่นนั้นแล้ว ฟาโรห์เมเนสคือใครในกระแสธารประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณ นัซย่าจะทำอย่างไรในช่วงเวลาที่อียิปต์โบราณเพิ่งเริ่มนับหนึ่ง ฟาโรห์เมเนสมีจริงหรือไม่ เรื่องราวของฟาโรห์สองพระองค์แท้จริงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่ เธอต้องหาคำตอบด้วยตัวเองเพื่อบรรลุเป้าหมายของภารกิจที่เทพทั้งสี่หวังให้เธอทำสำเร็จ

นิยายรักโรแมนติกนิยายแฟนตาซีนิยายรักนางเอกเก่งรักหวานๆแฟนตาซี โรแมนติกนิยายย้อนยุคผู้ชายอบอุ่นนิยายประวัติศาสตร์

บทที่ 1 ฟาโรห์ที่ไม่ทราบว่ามีตัวตนหรือไม่ (1/3)

ค.ศ. 5022 กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย

‘สำนักข่าวต่างประเทศได้เผยแพร่ข่าวการค้นพบชิ้นส่วนขนาดใหญ่ของรูปสลักโบราณในย่านชุมชนแออัดของกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็นรูปสลักของฟาโรห์เมเนสซึ่งมีอายุมากว่า 8,000 ปี พระองค์เป็นฟาโรห์ที่ปกครองอาณาจักรตั้งแต่ช่วงปี 3200-3000 ก่อนคริสตกาล’

รูปสลักดังกล่าวมีน้ำหนักมากถึง 3 ตัน สูงราว 26 ฟุต หรือเกือบ 8 เมตร สลักจากหินควอร์ตไซต์ รูปสลักไม่ได้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พระพักตร์บางส่วนแตกเสียหาย แต่ทีมนักโบราณคดีมั่นใจว่านี่เป็นรูปสลักฟาโรห์เมเนส เพราะปรากฏพระนามของพระองค์ในคาร์ทูธ***ที่ถูกสลักไว้ที่ต้นพระพาหาซ้ายของรูปสลัก นอกจากนี้ยังค้นพบส่วนหนึ่งของวิหารที่มีรูปเคารพเทพีนีต*** รูปสลักหินปูนของราชาแมงป่อง (พระราชบิดาของฟาโรห์เมเนส) อยู่ใกล้กันในบริเวณดังกล่าวด้วย

ฟาโรห์เมเนสทรงเป็นกษัตริย์ผู้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณ พระองค์สามารถรวมอียิปต์บนและอียิปต์ล่างได้สำเร็จในปี 3150 ก่อนคริสตกาล ทรงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นฟาโรห์องค์แรกแห่งราชวงศ์ที่หนึ่งของอียิปต์โบราณ ทว่าพระราชประวัติของฟาโรห์เมเนสยังคงเป็นปริศนา เพราะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดปรากฏ มีเพียงจารึกพระนามในบันทึกพระนามแห่งตูรินและบันทึกพระนามแห่งอไบดอส*** และพระราชประวัติที่ระบุเพียงว่าทรงรวมอียิปต์บนและอียิปต์ล่างได้สำเร็จ

การค้นพบครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างนักโบราณคดีอียิปต์และรัสเซีย ได้ขุดค้นพบชิ้นส่วนตั้งแต่ช่วงท้องจนถึงศีรษะของรูปสลัก และยังมีชิ้นส่วนทั้งมงกุฎและช่วงหูด้านขวาของรูปสลักอีกด้วย จากชิ้นส่วนเหล่านี้ทำให้นักโบราณคดีต่างพยายามขุดค้นต่อไป เพื่อจะนำชิ้นส่วนทั้งหมดไปประกอบและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอียิปต์’

“ไมนัส บ่ายสองวันนี้มาดื่มกาแฟกับผมที่เลเบเดฟ”

คำสั่งสั้นๆ จากผู้ชายคนหนึ่งที่เจ้าของรหัส ‘ไมนัส’ คุ้นเคยดังขึ้นแล้วเขาก็ตัดสายไป

ไมนัสมีสีหน้าแปลกใจนิดหน่อย ดวงตาคู่สวยสีฟ้าสดใสเหลือบมองเวลาบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือก่อนจะยิ้มหวานออกมา ตอนนี้เป็นเวลาเที่ยงครึ่ง เธอมีเวลาชั่วโมงครึ่งในการเดินเที่ยวถนนอาร์บัต (Arbat Street) ถนนคนเดินที่มีความยาวประมาณหนึ่งกิโลเมตรและเก่าแก่ที่สุดในกรุงมอสโก เป็นถนนช้อปปิ้งขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยร้านค้า ร้านขายของที่ระลึก ของฝาก ร้านอาหาร และร้านกาแฟ

‘เลเบเดฟ’ สถานที่นัดหมายของเธอคือร้านกาแฟชื่อดังในถนนแห่งนี้

ไมนัสก้าวเข้าไปในร้านกาแฟ ‘เลเบเดฟ’ เธอเดินไปสั่งกาแฟร้อนแก้วใหญ่หนึ่งแก้วก่อนจะถือมันเดินไปทางห้องน้ำหญิง ประตูบานหนึ่งติดห้องน้ำหญิงถูกปิดไว้ เธอเหลือบตามองรอบด้านอีกครั้ง เมื่อแน่ใจว่าไม่มีใคร ก็วางมือขวาทาบลงบนประตูที่ปิดสนิทนั้น

‘принимать’

принимать อันมีความหมายว่า ‘ยอมรับ’ ดังขึ้นเบาๆ ประตูที่ปิดไว้เลื่อนเปิดออกให้เธอเข้าไปก่อนจะปิดลงอย่างรวดเร็วทันทีที่เธอก้าวพ้น

“มีอะไรคะ ลุงการิล เรียกตัวด่วนขนาดนี้ ฉันกำลังเดินช้อปปิ้งอยู่เลย ดีนะเนี่ยที่ฉันไม่ได้เถลไถลไปพักผ่อนไกลๆ” ไมนัสนั่งลงตรงหน้าชายวัยกลางคนผู้หนึ่งก่อนจะทักปนบ่นกับการิล เจ้าของรหัส ‘ซีโร่’ เขามีเค้าหน้าเคร่งขรึม เอาจริงเอาจัง แต่ก็ดูใจดี

“ลุงเช็คสัญญาณเธอแล้วว่าเธออยู่แถวนี้ ถึงนัดมาที่นี่ จะได้เดินเล่นเสียก่อนจะมาพบลุงไง” การิลตอบกลับสบายๆ แต่สีหน้ากลับเคร่งขรึม

“แล้วมีงานด่วนพิเศษหรือคะถึงเรียกใช้ฉัน สีหน้าลุงมันฟ้องนะคะว่างานครั้งนี้พิเศษมาก” ไมนัสถามขึ้นก่อนจะจิบกาแฟร้อนที่ซื้อมาด้วยท่าทีพร้อมรับงาน

“นัซย่า เธอได้ยินข่าวเรื่องการค้นพบรูปสลักโบราณในอียิปต์เมื่อเร็วๆ นี้รึเปล่า” การิลถามนัซย่า สาวสวยผมทอง ผิวขาว นัยน์ตาสีฟ้าใสที่นั่งอยู่อีกฝั่งของโต๊ะประชุม เธอผู้เป็นเจ้าของรหัสลับพิเศษ ‘ไมนัส’

นัซย่ามีสีหน้างุนงงทันที เพราะข่าวนี้ดูไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของเธอเลย ขมวดคิ้วครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งค่อยนึกออก

“ได้ข่าวค่ะ นี่มันข่าวเมื่ออาทิตย์ก่อนนี่คะ ฉันก็ฟังผ่านๆ เห็นว่าเป็นรูปสลักฟาโรห์อะไรสักอย่าง มีอะไรพิเศษหรือคะ”

“ท่านประธานาธิบดีอยากรู้รายละเอียดทั้งหมดของโบราณวัตถุทุกชิ้นที่ค้นพบรวมทั้งคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”

นัซย่าต้องเลิกคิ้วอย่างทั้งแปลกใจและประหลาดใจในเวลาเดียวกัน

“ทำไมท่านถึงอยากทราบคะ ข่าวรูปสลักนี่ มันไม่น่าจะเกี่ยวกับงานด้านความมั่นคงที่สายลับสังหารอย่างพวกเราทำเลย”

“ลุงก็ถามท่านเหมือนที่เธอถามนี่แหละ ถึงได้รู้ข่าวร้ายมาข่าวหนึ่ง”

“ข่าวร้ายอะไรคะ”

“อาลีน่า ลูกสาวคนสุดท้องของท่านที่เป็นนักศึกษาด้านโบราณคดี ได้ไปร่วมค้นหารูปสลักนี้ หลังจากที่รูปสลักและของโบราณอื่นๆ ถูกนำมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอียิปต์ วันรุ่งขึ้นผู้ที่แตะต้องของเหล่านั้นรวมทั้งอาลีน่าตายทั้งหมดในห้องพัก รอบลำคอของทุกศพมีรอยเขียวคล้ำที่ชัดเจนว่าพวกเขาถูกบีบคอจนตาย ไม่มีร่องรอยการต่อสู้ขัดขืน”

“ข่าวนี้ถูกปิดเงียบเพื่อไม่ให้เกิดความหวาดกลัว ท่านประธานาธิบดีเพิ่งได้รับแจ้งเรื่องอาลีน่าจากเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำอียิปต์เมื่อตอนสายวันนี้ ท่านเจาะจงให้เธอไปสืบเรื่องทั้งหมด เธอเป็นสายลับมือดีที่สุดของหน่วยเรา ท่านเชื่อมือเธอที่สุด”

นัซย่านิ่งอึ้ง เธอไม่คาดว่าอาลีน่า สาวน้อยน่ารักคนนั้นจะตายแล้ว

“ตกลงค่ะ น่าสงสารอาลีน่า เธอยังเด็กอยู่เลย เพิ่งยี่สิบเอง” นัซย่ากล่าวออกมา

“แล้วจะให้ฉันเดินทางเมื่อไหร่คะ”

“มะรืนนี้ ระหว่างที่รอเดินทาง เธอไปศึกษาประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณสมัยฟาโรห์เมเนสมาให้ละเอียดที่สุด เธอจะไปในฐานะนักโบราณคดีของรัสเซีย”

เชิงอรรถ

***คาร์ทูธ (cartouche) เป็นป้ายชื่ออักษรอียิปต์โบราณ มีรูปร่างเหมือนวงรีที่มีแถบแนวนอนที่ฐานของวงรีและชื่อของฟาโรห์ที่เขียนไว้ภายในวงรี หากมีพื้นที่ไม่เพียงพอ เช่น ชื่อยาวเกินไป ชาวอียิปต์สามารถเขียนคาร์ทูธในแนวนอนแทนแนวตั้งและวางเส้นที่ด้านข้างขึ้นและลงแทนที่จะเป็นแนวนอนที่ด้านล่างของวงรี ในภาษาอียิปต์สําหรับคาร์ทูธคือ shen ซึ่งหมายถึง 'การล้อมรอบ'

คาร์ทูธจะถูกเขียนบนสุสานและโลงศพเพื่อทําเครื่องหมายว่าใครอยู่ข้างใน ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าแต่ละคนมีวิญญาณสองดวงคือ Ba และ Ka พวกเขาใช้คาร์ทูธเพื่อระบุร่างกายที่พวกเขาอยู่เพื่อให้ชาวอียิปต์ก้าวไปสู่ชีวิตหลังความตาย บางครั้งฟาโรห์จะสวมคาร์ทูชเป็นเครื่องรางเพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้ายและดึงดูดความโชคดี

***เทพีนีต (Neith) ถือเป็นมารดาของเทพเจ้าทั้งหมด พระองค์เป็นผู้สร้างโลกและเป็นมารดาของสุริยเทพรา เทพีนีตยังเป็นเทพธิดาผู้อุปถัมภ์แห่งอียิปต์ล่าง ศิราภรณ์ของพระองค์คือมงกุฎแดง เทพีนีตยังดูแลคนตายและช่วยแต่งวิญญาณของพวกเขาเพื่อเตรียมพร้อมสําหรับชีวิตหลังความตาย

เทพีนีตไม่มีสามีจึงถูกกําหนดให้เป็น ‘เทพธิดามารดาพรหมจารี (Virgin Mother Goddess)’ สัญลักษณ์ลึงค์ในรูปวาดของพระองค์เป็นการยอมรับพลังของบุรุษเพศที่จําเป็นในการสร้างจักรวาล เทพีนีตยังมีความเกี่ยวข้องกับน้ำ จึงเชื่อกันว่าพระองค์เป็นมารดาของเทพโซเบก (Sobek) เทพเจ้าจระเข้ที่ดุร้ายและปกครองแม่น้ำไนล์

***บันทึกพระนามแห่งอไบดอส เป็นที่รู้จักกันในนามของ ‘ตารางพระนามอไบดอส’ คือบันทึกรายพระนามฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณจำนวนทั้งหมด 76 พระองค์ ที่ปรากฎอยู่บนผนังของวัดที่สร้างขึ้นโดยฟาโรห์เซติที่หนึ่ง ที่เมืองอไบดอสในประเทศอียิปต์ ซึ่งบันทึกไว้สามแถว แต่ละแถวจะมี 38 พระนาม โดยพระนามจะปรากฎอยู่ในวงรีที่เรียกว่า คาร์ทูธ (วงรีล้อมรอบพระนามของฟาโรห์) ในแต่ละแถว ซึ่งสองแถวด้านบนจะเป็นพระนามของฟาโรห์ แถวที่สามจะบันทึกพระนามต่างๆ ของฟาโรห์เซติที่หนึ่ง

นอกเหนือจากการบันทึกพระนามของฟาโรห์ในยุคราชอาณาจักรเก่าแล้ว ยังมีการบันทึกพระนามของฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่เจ็ดและแปด ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่มีความคลุมเครืออย่างมากเนื่องจากยังขาดหลักฐานทางโบราณคดี ดังนั้น บันทึกพระนามแห่งอไบดอสจึงมีประโยชน์ในการศึกษาเกี่ยวกับอียิปต์โบราณ

บันทึกพระนามนี้มีการละเว้น (ไม่บันทึก) พระนามของฟาโรห์ก่อนหน้านี้หลายพระองค์ที่ได้รับการพิจารณาว่าฟาโรห์เหล่านี้ปกครองอย่างไม่ชอบธรรม เช่น ฟาโรห์ชาวฮิกซอส พระนางแฮตเชปซุต ฟาโรห์อาเคนาเตน ฟาโรห์สเมงห์คาเร ฟาโรห์ทุตอังค์อามุน และฟาโรห์ไอย์